ประเทศไทยมีพื้นที่น่านน้ำจำกัดเพียง 323,488 ตารางกิโลเมตร ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ทรัพยากรสัตว์น้ำของเราจึงมีจำนวนจำกัด แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยกลับมีจำนวนเรือประมงมากกว่าปริมาณสัตว์น้ำในทะเลและเรือประมงจำนวนมาก ยังใช้เครื่องมือและวิธีทำการประมงแบบทำลายล้าง อาทิ การใช้อวนตาถี่กวาดจับลูกปลาเศรษฐกิจอย่างปลาทู การจับปลาในฤดูวางไข่ หรือจับปลาในเขตอนุรักษ์ โดยไร้การควบคุม ทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยเริ่มเสื่อมโทรมอย่างหนัก จำนวนสัตว์น้ำลดลงเพราะถูกจับไปมากจนเกิดทดแทนไม่ทัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความยั่งยืนของทรัพยากรและอาชีพการประมงไทย
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของไทยในอดีต คือ มากกว่าครึ่งของจำนวนเรือประมงของคนไทยที่มีกว่าแปดหมื่นลำ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง บางส่วนไม่มีอาชญาบัตรในการทำประมง แม้หลายรัฐบาลพยายามแก้ไข แต่ต้องประสบปัญหาทั้งกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่มีแม้แต่คำนิยามของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) fishing) ปัญหานายทุนผู้มีอิทธิพลหลบเลี่ยงอำนาจรัฐ ปัญหาการขาดระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังที่ดีพอในแต่ละพื้นที่จนกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน ค้าน้ำมันเถื่อน เป็นต้น ซึ่งล้วนหมักหมมมานานจนยากที่จะแก้ไขได้ เฉพาะสถานการณ์การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing) ก็ทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยเมื่อปี 2558 จนเกือบจะส่งผลให้สินค้าประมงไทยทั้งหมดเสี่ยงต่อการถูกห้ามนำเข้าไปขายในตลาดทั้งหมดในสหภาพยุโรป
เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ จึงได้เริ่มลงมือแก้ไขใหม่ทั้งระบบ โดยเริ่มจากการออกกฎหมายใหม่หมด การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เฉพาะในส่วนของกรมเจ้าท่า ได้มีการดำเนินการเรื่องสำคัญที่ไม่เคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย กล่าวคือ การตรวจวัดและขึ้นทะเบียนเรือใหม่หมดทุกลำ การขึ้นทะเบียนท่าเรือและอู่ต่อเรือทั้งหมด เพื่อป้องกันเรือที่สวมทะเบียน แยกเรือที่ถูกกฎหมายออกจากเรือที่ผิดกฎหมาย พร้อมใช้ทั้งเทคโนโลยีการจราจรทางทะเลที่ทันสมัย (VTS) ตามจับเรือผิดกฎหมายมาลงโทษและทำลาย
แม้เป็นภารกิจที่ยากมาก แต่รัฐบาล โดยกรมเจ้าท่าก็ทำได้สำเร็จ ปัจจุบัน มีเรือประมงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จำนวน 10,796 ลำ ซึ่งเป็นผลจากการสะสางกองเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 22,447 ลำ ในปี พ.ศ. 2558 นอกจากนั้น ยังมีเรือประมงพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายอีก จำนวน 47,993 ลำ จากนี้ไป เราจะยังคงต้องพยายามเร่งฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำในทะเลไทยให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ลดจำนวนเรือประมงให้สมดุลกับปริมาณสัตว์น้ำ ควบคุมอุปกรณ์เครื่องมือการจับปลาและสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมประมงให้ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทะเลไทยได้มีโอกาสฟื้นฟู ให้เรามีทรัพยากรสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ต่อไปลูกหลานไทยในอนาคต
#PMDU #สบนร. #สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี #ประมงที่ยั่งยืน
14 พฤษภาคม 2563/ 275 Views/ เวลาอ่าน 3 นาที