ใจความสำคัญ
หลังเกิดวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัย เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีใช้งาน รัฐบาลไทยจึงได้ทำทุกวิถีทางที่จะจัดหามาให้อย่างเพียงพอ และทันสถานการณ์ ทั้งเพิ่มกำลังการผลิต ให้นำเข้าโดยไม่เสียภาษี และเจรจากับประเทศต้นทางการผลิต
ในภาวะโรคระบาด “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นของหายากที่สุด และจำเป็นที่สุด ในตอนนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชากรทั่วโลก จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลกจนสินค้าขาดตลาดอย่างรุนแรง
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 13 แห่ง ในจำนวนนี้มี 11 แห่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก ที่ผลิตหน้ากากแบบ Surgical Mask1 วางขายในประเทศอยู่แล้ว แต่ว่าโรงงานขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง ผลิตหน้ากากที่มีลิขสิทธิ์ และต้องส่งออกไปต่างประเทศตามข้อตกลงส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีเพียงโรงงานเดียวที่ผลิตหน้ากากแบบ N95 คือ บริษัท สยาม โคเค็น จำกัด ที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท อนุสรณ์ เบสเซฟ จำกัด ที่ผลิตใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น
เมื่อความต้องการหน้ากากมีเพิ่มขึ้น แม้โรงงานขนาดเล็กที่ผลิตขายในประเทศจะเพิ่มกำลังผลิต แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถนำออกมาจำหน่าย เพราะติดทั้งลิขสิทธิ์ และกำแพงอากรภาษี ไม่แปลกเลยที่หน้ากากอนามัยจะขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้นมากหลายเท่าตัว
จนในที่สุด กระทรวงพาณิชย์ ต้องขอความร่วมมือจากทุกโรงงาน ให้เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น จากที่เคยผลิตได้เพียง 30 ล้านชิ้นต่อเดือน2 ก็ให้เพิ่มเป็น 40 – 50 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ทว่าก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มไม่จำกัด ปัญหาการกักตุนหน้ากาก การลักลอบขายเกินราคาจึงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าที่สำคัญยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 นี้ รัฐบาลจึงได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือกับทุกโรงงานให้เพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยอย่างเต็มกำลัง
พร้อมสั่งการให้กรมศุลกากร ปรับหลักเกณฑ์ การนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิต และนำเข้าหน้ากากอนามัยสำเร็จรูป รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆ3 ซึ่งรวมไปถึงการนำเข้ามาเพื่อบริจาคเป็นสาธารณกุศล สถานพยาบาลต่าง ๆ อีกด้วย4
จากความพยายามปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของรัฐบาลในครั้งนี้ ทำให้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้เพิ่มขึ้น ในภาวะการแข่งขันที่ทุกประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ทุ่มเงินแย่งกันหาซื้อ จากเดิมที่ประเทศไทยผลิตหน้ากากอนามัยได้เพียง 1.4 ล้านชิ้นต่อวัน5 ก็สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นถึง 2.36 ล้านชิ้นต่อวัน6 และคาดว่าจะเพิ่มจนถึง 3 ล้านชิ้นต่อวันได้ในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลยังส่งเสริมให้ตั้งโรงงานใหม่ขึ้นมาอีก 4 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตหน้ากากอนามัยได้ภายในเดือน มิ.ย. 63 7 นี้
ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 เท่านั้น และแต่เดิมเป็นสินค้าที่ประเทศไทยต้องนำเข้า จากบริษัท 3M จำกัดประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด แต่ในเวลาที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกกำลังขาดแคลนอย่างหนักแบบนี้ รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งรัดจัดหามาเพิ่มให้ได้ทุกวัน แม้จะเป็นสินค้าหายาก มีเงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ เพราะต้นทางการผลิตสหรัฐอเมริกาประกาศห้ามการส่งออก ทางรัฐบาลไทยจึงได้เจรจากับ บริษัท สยาม โคเค็น จำกัด และรัฐบาลญี่ปุ่นประเทศปลายทางที่ส่งออก เพื่อขอแบ่งปันหน้ากากมาใช้ในประเทศไทยได้เดือนละถึง 100,000 ชิ้นในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 63 และจะได้รับเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 280,000 ชิ้นไปจนถึง ก.ย. 63
นอกจากนั้นรัฐบาลยังเจรจาซื้อหน้ากากอนามัยแบบ N95 จากบริษัท 3M ประเทศสหรัฐอเมริกามาอีก 400,000 ชิ้น ได้รับมาแล้ว 260,000 ชิ้น และกำลังเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอเพิ่มจำนวนให้ได้มากขึ้นกว่านี้อีก แม้จะติดนโยบายห้ามส่งออกอยู่ก็ตาม
แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ยังเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อนำเข้าอีก1.3 ล้านชิ้น โดยล๊อตแรกมาถึงไทยแล้ววันที่ 27 เม.ย. 63 จำนวน 400,000 ชิ้น8 เรียกว่ารัฐบาลใช้พยายามในทุกวิถีทาง
ที่สำคัญการสร้างความเข้าใจในการใช้หน้ากากอนามัยแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็น มีหน้ากากที่มีความปลอดภัยอย่าง N95 และ Surgical Maskใช้อย่างเพียงพอได้
ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วยและไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้ใส่หน้ากากแบบผ้าเพื่อป้องกันตัวเองจากฟองฝอยน้ำลายจากการไอจามก็เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยราชการ ตลอดจนภาคเอกชน ภาคประชาสังคมได้ช่วยกันทำขึ้นเพื่อแจกจ่าย และยังมีที่วางขายตามท้องตลาด รวมทั้งทางออนไลน์อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว
การร่วมมือร่วมใจของทุกคนในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยเรานั้นสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดี #เราจะสู้ไปด้วยกัน
-
-
- บริษัท ไทย ฮอสปิทอลโปรดักซ์ จำกัด
- บริษัท เมด คอร (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท ทรู ไลน์ เมด จำกัด
- บริษัท ไอรีมา (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัท ไบโอเซฟ โปรดักส์ จำกัด
- บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด
- บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ท๊อป โอลซัม จำกัด
- บริษัท วินเบสท์ อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท เค.เอส.โกลฟ จำกัด
-
2) https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/420226
3) http://www.customs.go.th/cont_strc_simple_with_date.php?current_id=14232832414a505f46464b46464a4f
4) http://www.customs.go.th/cont_strc_slide_image.php?current_id=14232832414a505f46464a4e464b46
5) ข้อมูล ณ 7 ก.พ. 63 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865354
6) ข้อมูล ณ 30 มี.ค. 63 https://news.thaipbs.or.th/content/290427
7) ข้อมูลตัวเลขคาดการณ์ ของ สบนร.
8) https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873454
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2129422
15 เมษายน 2563/ 246 Views/ เวลาอ่าน 6 นาที