ใจความสำคัญ
- หน้ากากผ้า คือทางเลือกในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เพื่อเก็บหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ไว้ให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในจุดเสี่ยง
- กระทรวงมหาดไทยจัดทำหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น เพื่อแจกหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ
- กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้น เพื่อจัดส่งให้ทุกครัวเรือนใน กทม. เริ่มตั้งแต่ 11 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป และจะแจกจ่ายให้จังหวัดปริมณฑล จังหวัดที่มีความเสี่ยง และหน่วยงานบริการประชาชนต่าง ๆ
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำหน้ากากผ้า 40,000 ชิ้น เพื่อแจกให้ประชาชนทั่วประเทศ ครอบครัวละไม่เกิน 4 ชิ้น เพียงส่งซองติดแสตมป์ 20 บาท พร้อมระบุจำนวนและวัยของสมาชิกครอบครัว ส่งที่ พม.จังหวัด (พมจ.)
- ผ้าฝ้ายมัสลิน เหมาะสมที่จะใช้ทำหน้ากากผ้ามากที่สุดเนื่องจากสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กและป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี สามารถซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยเส้นใยไม่เสื่อมสภาพ
เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ทุกคนตื่นตระหนกขวนขวายหาหน้ากากอนามัยมาสวมป้องกันเชื้อโรค จนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดตลาด และกลายเป็นสินค้าควบคุมไปในที่สุด
“หน้ากากผ้า” จึงเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีสุขภาพดีไม่ได้ป่วย เพื่อใช้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพราะการสวมหน้ากากผ้าสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ถึง 54-59 % และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็รณรงค์ให้คนไทยใช้หน้ากากผ้า เมื่อไปในที่สาธารณะหรือพื้นที่มีคนแออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของที่ไม่จำเป็น ให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำหรือสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70 % ขึ้นไป
ผ้าฝ้ายมัสลิน เหมาะจะใช้ทำหน้ากากผ้ามากที่สุด
ภาครัฐได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไปตัดเย็บหน้ากากผ้าขึ้นใช้เอง โดยให้เลือกผ้าที่เหมาะสมและมีความหนาเพียงพอ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงผลการทดสอบประสิทธิภาพของผ้าชนิดต่าง ๆ พบว่า ผ้าฝ้ายมัสลินเหมาะสำหรับใช้ทำหน้ากากผ้ามากที่สุด เนื่องจากสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กและป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านได้ดี สามารถซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยเส้นใยไม่เสื่อมสภาพ
จากการเปรียบเทียบผ้าที่นิยมมาตัดเย็บ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน และผ้านาโน เมื่อนำมาประกอบกัน 2 ชั้น พบว่าสามารถป้องกันได้ใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย และถ้าใช้ผ้าฝ้ายดิบร่วมกับผ้าฝ้ายมัสลินจะสามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้งโดยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม แต่ผ้านาโนซักได้ไม่ถึง 10 ครั้งก็จะเสื่อมสภาพ
นอกจากนี้ ข้อดีของหน้ากากผ้า คือ ยิ่งซักเส้นใยจะยิ่งเล็ก โดยจะเหลือขนาดประมาณ 1 ไมครอน ในขณะที่ไวรัสโคโรนา 2019 มีขนาด 5 ไมครอน ถือว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันโรคสำหรับคนทั่วไปเมื่อใช้ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด
คุณสมบัติของหน้ากากผ้า
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า “หน้ากากผ้า” สามารถใช้ทดแทน “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์” โดยสามารถป้องกันเชื้อได้ 54 – 59 % และเหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปผู้ที่ไม่ป่วย
การใช้หน้ากากป้องกันโรคนั้น ควรใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มบุคคล หากเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่นบุคลากรการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรง หรือผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสและผู้ป่วยไข้หวัดที่มีอาการไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สามารถป้องกันละอองน้ำลายออกจากปากและจมูกกระจายสู่อากาศภายนอก และสามารถป้องกันความชื้นได้ดีกว่าหน้ากากผ้า
การสวมหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธี
ข้อควรปฏิบัติในการสวมหน้ากากผ้าก็เช่นเดียวกับการใช้หน้ากากอนามัยแบบอื่น ๆ คือ
- สวมให้ถูก คือ สวมหน้ากากให้คลุมปากและจมูก รัดหน้ากากให้กระชับ เพื่อลดช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากากให้มากที่สุด
- ไม่ควรเอามือมาสัมผัสหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ เวลาถอดหน้ากากห้ามจับบริเวณด้านหน้าของหน้ากาก แต่ให้จับที่สายคล้องหู
- ล้างมือให้สะอาดหลังจากถอดแล้ว
- ต้องเปลี่ยนหน้ากากผ้าทุกวันหรือทันทีที่รู้สึกว่าหน้ากากเริ่มชื้น จึงควรมีหน้ากากผ้าหลายชิ้นสำหรับสลับสับเปลี่ยน
- หน้ากากผ้าสามารถนำมาใช้ซ้ำได้แต่ต้องเป็นหน้ากากที่ซักและแห้งแล้วเท่านั้น โดยสามารถซักด้วยผงซักฟอกปกติ หรือผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้งาน
ในส่วนของภาครัฐ หลายหน่วยงานหลายกระทรวงจึงได้ทำหน้ากากผ้าทั้งเพื่อแจกจ่าย และเพื่อขายให้ประชาชนดังนี้
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโควิด-19 ผนึกกำลังจิตอาสาในทุกท้องถิ่นทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายการผลิตจำนวน 50 ล้านชิ้น ซึ่งขณะนี้ได้ผลิตแล้วกว่า 45 ล้านชิ้น แจกจ่ายแล้วกว่า 43 ล้านชิ้น และอยู่ระหว่างแจกจ่ายกว่า 19 ล้านชิ้น
กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการดำเนินการเกี่ยวกับหน้ากากผ้าเช่นเดียวกัน โดยจะจัดส่ง “หน้ากากผ้า” จำนวน 10 ล้านชิ้น ผ่านทางไปรษณีย์ไทยสำหรับชาว กทม.-ปริมณฑล-พื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 หน้ากากผ้าชุดแรกถึงมือประชาชนเขตสัมพันธวงศ์แล้ว และกำลังทยอยจัดส่งให้จนครบทุกเขตภายในต้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้จะแจกหน้ากากผ้าอีก 2.5 ล้านชิ้นให้แก่พนักงานบริการที่มีความเสี่ยง เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำนวน 40,000 ชิ้น / องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 20,000 ชิ้น / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 300,000 ชิ้น / โรงพยาบาล 18 แห่ง จำนวน 180,000 ชิ้น / รถไฟฟ้า บีทีเอส และเอ็มอาร์ที จำนวน 5,000 ชิ้น ส่วนอีก 4.4 ล้านชิ้นจะแจกจ่ายผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตปริมณฑล และจังหวัดเสี่ยง อาทิ นนทบุรี จ.สมุทรปราการ และจังหวัดภาคใต้เช่น จ.นราธิวาส และ จ.ภูเก็ต
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังขอให้โรงงานที่ตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว ช่วยกันผลิตหน้ากากผ้าด้วยวัสดุที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยตรงตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด พร้อมกับตรวจสอบคุณภาพ ก่อนจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม[1]
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำโครงการ พม. อาสา ร่วมทำหน้ากากผ้า สู้ไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 – 15 มีนาคม 2563 เพื่อให้อาสาสมัคร (อพม.) และจิตอาสา เข้ามาร่วมทำหน้ากากผ้าที่เย็บด้วยมือตามแบบของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 40,000 ชิ้น เพื่อให้กับคนในครอบครัว และแจกจ่ายให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการฟรีไม่เกิน 4 ชิ้นที่ พม.จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ เพื่อสอนการทำหน้ากากผ้าในหลายพื้นที่อีกด้วย
กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้นักโทษที่ฝึกวิชาชีพการตัดเย็บในทัณฑสถานทั้ง 78 แห่ง ผลิตหน้ากากด้วยผ้าด้วยผ้ามัสลิน ตามคำแนะนำจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กรมอาชีวศึกษา และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้สามารถผลิตได้ 45,000 ชิ้นต่อวัน และมีเป้าหมายจะผลิตให้ได้ถึง 1 ล้านชิ้น นอกจากผู้ต้องขังจะได้ใช้แล้ว ยังมอบให้หน่วยงานส่วนราชการที่จำเป็น อาทิ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลต่าง ๆ อีก 50,000 ชิ้นนำมาแจกฟรีให้แก่ประชาชน โดยผู้สนใจสามารถสั่งผลิตได้ หรือจะสั่งซื้อผ่าน facebook.com/prison.product/ และ facebook ของร้านค้า
ทัณฑสถานทั้ง 140 แห่ง รวมถึงจุดประชาสัมพันธ์เยี่ยมญาติในทุกเรือนจำ
สำหรับผู้สนใจเรียนวิธีทำหน้ากากผ้า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใน 8 จังหวัด ได้แก่
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0 4582 6235
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น โทร. 0 4324 3350
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง โทร. 0 5482 9709
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาฯ จังหวัดลำพูน โทร. 0 5309 2420 ต่อ 24
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี โทร. 0 2583 8350
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดชลบุรี โทร. 0 3824 1072 ต่อ 103, 120
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย โทร. 08 1961 6676 หรือ 0 5372 3950
- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดสงขลา โทร. 0 7458 4112 ทำคลิปการทำหน้ากากผ้าเผยแพร่ ไม่มีสำหรับแจก
ส่วนในกรุงเทพมหานคร มีโครงการสอนทำหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยตนเอง โดยเปิดอบรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงเตรียมผ้าฝ้ายขนาด 1 ฟุตมาเอง ทั้งนี้ กำหนดอบรมในช่วงเวลา 10.00 น. ในวันราชการ ณ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง และที่ศูนย์ฝึกอาชีพ 4 ศูนย์ ได้แก่
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครดินแดง
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครบางรัก
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครคลองเตย
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครอาทร
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครหลวงพ่อทวีศักดิ์
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครหนองจอก
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครม้วน บำรุงศิลป์
- โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครกาญจนสิงห์หาสน์
- ศูนย์ฝึกอาชีพศูนย์การค้าไอที สแควร์ เขตหลักสี่ (เปิดวันเสาร์-อาทิตย์)
- ศูนย์ฝึกอาชีพอาคารโกล์ด มาร์เก็ต ตลาดประชานิเวศน์ 1 (เปิดวันจันทร์-ศุกร์)
- ศูนย์ฝึกอาชีพวัดด่าน ถนนพระราม 3 (เปิดวันเสาร์-อาทิตย์)
- ศูนย์ฝึกอาชีพวัดรางบัว ซอยเพชรเกษม 33 เขตภาษีเจริญ (เปิดวันเสาร์-อาทิตย์)
สำหรับหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชนที่ประสงค์ทำหน้ากากผ้า สามารถติดต่อสำนักพัฒนาสังคมเพื่อจัดวิทยากรไปสอนได้ที่ โทร.0 2247 9496
อ้างอิงจาก :
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- รายงานสรุปศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, 30 มี.ค. 2563
- เพจเฟซบุ๊ก ท้องถิ่นไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870746
[1] สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ดังนี้
- ลักษณะผ้าต้องทำจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่น ไม่มีลายพิมพ์
- น้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร
- หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าต้องเย็บ 2 ชั้น การผ่านของอากาศต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเมตร และความหนาต้องไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร
ใส่ความเห็น