ในโลกยุคใหม่ที่โซเชียลมีเดียตอบสนองได้เกือบทุกความต้องการ จึงมีคนไทยกว่า 51 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3.10 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่าเมื่อหยิบโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเมื่อใด ก็ต้องเปิด Facebook Line Twitter Google Yahoo หรือ YouTube หากจะซื้อสินค้าก็ต้อง Lazada Shopee Amazon Ebay ฯลฯ หากจะดูสื่อบันเทิงก็ต้อง Netflix ซึ่งทั้งหมดเป็นสื่อที่อยู่ในต่างประเทศ แต่เข้ามากอบโกยเม็ดเงินจากค่าโฆษณาค่าสมาชิก ปีละจำนวนหลายหมื่นล้านบาท แต่ทว่าสื่อเหล่านี้กลับไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น
นั่นก็เพราะ กรมสรรพากรไม่เคยมีฐานกฎหมายที่จะให้อำนาจในการตามเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ ที่พอจะเก็บได้บ้าง ก็น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับตัวเลขภาษีที่ควรจะเก็บได้ซึ่งเคยมีการประมาณการไว้ถึง 3,000 ล้านบาท โซเชียลมีเดียเหล่านี้จึงถูกเปรียบว่าเหมือน “เสือนอนกิน” มาเป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็คิดหาวิธีที่จะจัดเก็บภาษีกับโซเชียลมีเดียเหล่านี้เช่นเดียวกัน
รัฐบาลภายใต้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักดีว่า ไทยควรมีมาตรการที่ไม่ปล่อยให้โซเชียลมีเดียเหล่านี้เอาเปรียบ และเพื่อให้มีรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ต้องยอมแบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% โดยต้องคำนึงถึงวิธีการในการจัดเก็บที่เหมาะสม รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมสรรพากรจัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส (e-Service) ขึ้น เพื่อจัดเก็บภาษี VAT จากทุกผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย และทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งที่ผ่านมา ยังได้เปรียบผู้ประกอบการในประเทศเนื่องจากไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส (e-Service) เพื่อให้ อี-เซอร์วิส (e-Service) มีคำจำกัดความที่ครอบคลุมธุรกิจกว้างขวางมากขึ้นและกำหนดให้ธุรกิจที่เข้าข่ายมีหน้าที่ชัดเจนในการเสียภาษี ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรมีเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติได้จริง
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เสนอร่างกฎหมาย อี-เซอร์วิส ดังกล่าวผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา และคาดว่า กฎหมายจะบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2563
ใจความสำคัญของร่างกฎหมายนี้ระบุให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยและมีรายได้ต่อปีจากค่าบริการตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมายื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส โดยประเมินเบื้องต้นว่า มีมูลค่าการให้บริการรวมอยู่ที่ปีละ 40,000 ล้านบาท และคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ 3,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ยังจะสามารถช่วยคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการของไทยที่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในปัจจุบัน
พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส แบ่งธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซซื้อขายสินค้าออนไลน์หรือการค้าขายบนมาร์เกตเพลส อย่าง ลาซาด้า (Lazada) หรือช้อปปี้ (Shopee) | โดยผลักดันให้ยกเลิกประกาศกรมศุลกากรที่ให้ยกเว้นการเก็บภาษี VAT สำหรับสินค้าต่างประเทศที่นำเข้ามาที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้สินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องเสียภาษี VAT เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ
- ธุรกิจ อี-เซอร์วิสเป็นบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล แบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้แก่
- ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ที่ขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม โดยลูกค้าในไทยต้องชำระค่าโฆษณาผ่านการจ่ายบัตรเครดิตไปยังประเทศปลายทาง ทำให้ภาครัฐของไทยไม่สามารถเก็บภาษีใด ๆ ได้
- ธุรกิจเพลง–หนังบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ แอปเปิลเพย์ (Apple Play) สปอร์ติฟาย (Spotify) ที่มีรายได้จากการสมัครสมาชิก
- ตัวกลางแบบ P2P ได้แก่ แกรบ (Grab) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb)
- ตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการเช่น บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda)
- อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มเช่น อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay) โดยเป็นการเก็บ VAT จากรายได้จากการให้ใช้แพลตฟอร์มในการขาย
ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างหันมาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการของตนเอง โดยมีประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแล้วกว่า 60 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย ซึ่งต่างก็กำหนดบทลงโทษตามกฎหมายไว้หลายรูปแบบ เช่น การบล็อกไม่ให้เข้าสู่แพลตฟอร์ม การบล็อกเส้นทางการชำระค่าบริการ ตลอดจนใช้ภาคีระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาภาคีสมาชิกเพื่อร่วมบริหารภาษีระหว่างประเทศ (Mutual assistant on tax administration) แลกเปลี่ยนข้อมูลบริษัทจดทะเบียนระหว่างกัน เพื่อนำมาประเมินภาษีที่ต้องจัดเก็บ หากมีบริษัทต่างชาติในประเทศนั้น ๆ เปิดให้บริการแพลตฟอร์มในไทย
โดยรัฐบาลได้เน้นย้ำว่า การเก็บภาษีนี้ ไม่ใช่เก็บจากตัวสินค้า แต่เป็นการเก็บจากค่าบริการ และค่าโฆษณาผ่านแต่ละแพลตฟอร์ม ยิ่งนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราก็ได้เห็นแล้วว่า ธุรกรรมออนไลน์ยิ่งเติบโตอีกหลายเท่าตัว ทำให้รายได้ของบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งภาษี อี-เซอร์วิสนี้ ก็จะครอบคลุมการเก็บภาษีในทุกแพลตฟอร์มของต่างประเทศได้ทั้งหมด คำที่ไม่รู้จักคำ
หากกฎหมายฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ได้จริงโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่า จะดีทั้งต่อการเพิ่มรายได้เข้าประเทศไทย ต่อประชาชนคนไทย และต่อผู้ประกอบการไทยนั่นเอง
ดีเดย์ วันที่ 1 กันยายน 2564 เริ่มเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส”
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศ กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทยแล้ว โดยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยกรมสรรพากรคาดว่า จะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
สร้างความเท่าเทียมให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย
จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา “เศรษฐกิจดิจิทัล” มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 15.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก (GDP) และเติบโตรวดเร็วกว่า GDP โลกถึง 2.5 เท่า ทำให้หลายประเทศหันมาจัดเก็บภาษี อี-เซอร์วิสมากขึ้น ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้มีการบังคับใช้ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกโดยแต่ละประเทศก็มีหลักเกณฑ์และอัตราภาษีแตกต่างกันไป
ที่ผ่านมา บริษัทขายโฆษณาออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนบริษัทในไทยและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทล้วนเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างชาติที่มาให้บริการและทำรายได้ในประเทศไทยกลับไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบบริษัทไทยด้านต้นทุนอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่บริษัทของไทย รวมทั้งนำรายได้เข้าประเทศ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น Google Facebook ฯลฯ จนสำเร็จ ขณะนี้ กรมสรรพากรกำลังเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้ง่ายและเป็นสากลขึ้น เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ใส่ความเห็น