ใจความสำคัญ
- เพื่อมุ่งเป้าหมายการเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยได้ดำเนินโครงการ “นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งปัจจุบัน มีนักเรียนทุนระดับปริญญาโท-เอก ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลแล้วถึง 2,600 คน พร้อมผลงานวิจัยอีกกว่า 8,000 รายการ
- นักเรียน/นักศึกษาที่สนใจติดตามข่าวสารทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ฝ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสถาบัน IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามรายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2019 ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับจากอันดับที่ 30 มาเป็นอันดับที่ 25 ได้ในปี 2562
ขีดความสามารถที่ดีขึ้นของประเทศไทย มีส่วนประกอบจากหลายด้าน ทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้าง
ปัจจุบัน งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยอยู่ที่ 1.25 % ของ GDP หรือ ประมาณ 216,376 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 % ของ GDP ภายในปี 2565 และ 2.0 % ของ GDP ภายในปี 2570 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ
รัฐบาล นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” จึงได้มีการปฏิรูประบบวิจัยเพื่อให้มีความเชื่อมโยงและต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยได้ดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูปการวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ และกรอบยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579)
ด้วยตระหนักดีว่า “คน” คือ “ทรัพยากร” ที่สำคัญ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แต่เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งรัดให้มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรทุนการศึกษาและการฝึกอบรมการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างบุคลากรที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพึ่งพาตนเองในระยะยาว
หนึ่งในโครงการที่สำคัญ คือ “โครงการนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง ในสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์และพลังงาน สาขาอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และสาขาการจัดการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โครงการนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 3 และ ระยะที่ 3+ ในปี 2561 ได้ส่งนักเรียนไปศึกษาทั้งระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 1,495 ทุน โดย 1,400 ทุน เป็นการศึกษาในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ออสเตรเลีย แคนาดา นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ และปีต่อมา โครงการในระยะที่ 4 ปี 2562 มีนักเรียนทุนจำนวน 1,500 ทุน
สาขาวิชาที่ส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเป็นสาขาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ รวม 10 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพและสิ่งแวดล้อม นิวเคลียร์เทคโนโลยี การบริหารจัดการเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายสิทธิบัตร วิทยาศาสตร์พื้นฐานทุกสาขา เทคโนโลยีทางทะเล นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง
การเพิ่มจำนวนบุคลากรและนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล อาทิ การพัฒนาระบบราง การเพิ่มจำนวนนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ EECi (Eastern Economic of innovation) หรือ พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งเน้นวิจัยและนวัตกรรม
นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษากลับมาพร้อมที่จะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัย และหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยในแต่ละปีจะมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 100 คน จากผลการดำเนินงานของโครงการ ทำให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ ได้รับบุคลากรที่เป็นนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก กลับมาปฏิบัติงานสอนและงานวิจัย สามารถสร้างผลงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดการแตกแขนงองค์ความรู้ในวิชาการสาขาใหม่ ๆ ปัจจุบัน ไทยมีนักเรียนทุนที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ จำนวนกว่า 2,600 คน สามารถสร้างผลงานวิจัยและวิชาการ กว่า 8,000 รายการ
นอกจากนั้น ยังมีการต่อยอดสู่การสร้างผลงานวิจัยระดับสูง สำหรับนักเรียนทุนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดทำ “โครงการสนับสนุนทุนนักวิจัยใหม่ วท. ” ขึ้น โดยจัดสรรเงินทุนให้โครงการละไม่เกิน 25,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาได้เข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาได้มากกว่าร้อยละ 80
นอกจากการต่อยอดสู่การวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แล้ว นักเรียนทุนเหล่านี้ยังเป็นบุคลากรที่สำคัญในการเผยแพร่ความรู้สู่นักเรียนนักศึกษาในประเทศไทย เป็นทั้งอาจารย์สอนและที่ปรึกษา ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยมีอาจารย์สอนหรือทำงานวิจัยมาก่อน
นับเป็นการเติมเต็มและพัฒนาระบบการศึกษา อันเป็นการพัฒนา “คน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ นักเรียน/นักศึกษาที่สนใจติดตามข่าวสารทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ฝ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ใส่ความเห็น