ใจความสำคัญ
- รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ มาโดยตลอด เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดจำนวน 21,304 ฉบับ จับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายจำนวน 6,002 ราย และการให้แหล่งเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท
- รัฐบาลได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนในการพัฒนาประเทศชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวกและสามารถหาแหล่งเงินได้โดยง่าย อีกทั้งปัจจุบันรูปแบบการปล่อยกู้ ติดตาม หรือทวงหนี้ ยังมีความทันสมัยทางเทคโนโลยีจึงทำให้เกิดหนี้นอกระบบได้ง่ายขึ้น
หนี้นอกระบบ คือ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยไม่ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน จึงมักก่อให้เกิดเป็นปัญหาเมื่อมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงผิดปกติ ประเทศไทยได้ให้คำนิยามหนี้นอกระบบว่า หมายถึง หนี้เงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) โดยที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การขับเคลื่อนโดย พลเอก ประยุทธ์
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน
หนี้นอกระบบยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลจึงมีการศึกษาและติดตามปัญหาหนี้นอกระบบอย่างใกล้ชิด เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ภายใต้การแก้ไขเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ครอบคลุม 5 มิติ ประกอบด้วย
- การจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ โดยได้ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยมี “พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560” ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
- การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสาน “คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด” เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
นอกจากนั้น หากประชาชนมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สามารถร้องเรียนได้ที่สถานีตำรวจ หรือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ โทร. 1599 หรือโทร 02-575-3344 เพื่อติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตลอดจน สายด่วน 1359 เพื่อติดต่อศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

- การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว ซึ่งลูกหนี้สามารถที่จะขอสินเชื่อในระบบได้ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนทั่วไป ทั้งผู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อจากธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. วงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือสินเชื่อในระบบอื่น ๆ สําหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชําระหนี้ตํ่าเกินไป
สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,124 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท จำนวน 932 ราย ใน 74 จังหวัด โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,005.41 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 131,518 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,722.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.04 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 138,362 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,295.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.96 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
- ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สําหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชําระหนี้ตํ่าเกินไป “คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด” จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝากอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน ให้ทําหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน รวมทั้งจัดทํา “ฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ” เพื่อใช้กําหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป
การกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมาย
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ และผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นกันยายน 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,297 คน
เฉพาะเดือนมิถุนายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 490 ราย สำหรับผลการดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนสะสมทั้งสิ้น 6,002 ราย
ผลจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ พบว่า การคืนโฉนดสำหรับลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2561 จนถึง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 12 ครั้ง มีการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนจำนวน 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดจำนวน 21,304 ฉบับ คิดเป็นเนื้อที่ 59,421 ไร่ 3 งาน 27.42 ตารางวา เป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ประชาชนได้คืนทั้งหมด 30,667,639,456 บาท
แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมรอบด้าน ไม่เพียงแค่จำนวนหนี้สินที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจึงได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยให้แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็น 3 ระยะ คือ
ระยะเร่งด่วน ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าปราบปรามเจ้าหนี้นายทุนที่มีการข่มขู่ทวงหนี้ในการกู้นอกระบบทุกรูปแบบ ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรม จะช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมให้กับลูกหนี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำสัญญา หรือการเรียกดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นพิจารณาและชั้นบังคับคดี ด้วยการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ทนายความ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามกฎหมายกองทุนยุติธรรม รวมทั้งประสานการไกล่เกลี่ยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ (ศนธ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงยุติธรรมในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ
ระยะกลาง คือ การหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อให้ลืมตาอ้าปากในช่วงวิกฤตการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้สามารถทำบัญชีครัวเรือน
และ ระยะยาว จะเน้นการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการศึกษาวิจัยการจัดหาแหล่งทุนที่เหมาะสมในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีลักษณะเป็นการถาวร เพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อร้องเรียนความเดือดร้อน และข้อเสนอแนะของประชาชน โดยข้อร้องเรียนต่าง ๆ จะต้องใช้เวลาแก้ปัญหาไม่เกิน 1 สัปดาห์ อีกทั้งทุกข้อร้องเรียนจะต้องมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา โดยรัฐบาลมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาของหนี้นอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงหนี้ในระบบ และพัฒนาความสามารถในการบริการจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างยั่งยืน
ใส่ความเห็น