ใจความสำคัญ
- รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยมีเนื้อหายกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ห้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972) ซึ่งไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ และเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน โดยมีผลใช้บังคับ 90 วันหลังจากประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม 2564
- ประโยชน์ของกระท่อมในทางการแพทย์ คือ มีสารไมตราเจนีน ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า แก้ปวดเมื่อย สามารถนำไปใช้แทนมอร์ฟีน และใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน รักษาโรคเบาหวาน ความดัน ภาคอุตสาหกรรมการแพทย์สามารถนำไปต่อยอด อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้และเพิ่มอาชีพให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาจากสมุนไพรและพืชท้องถิ่น ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้กรอบนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุ่นเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy Model หรือ BCG) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติด้วย
พืชกระท่อม หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “กระท่อม” พบมากในภาคใต้ ชาวบ้านนิยมนำใบมาเคี้ยวสด หรือนำมาต้มเพื่อดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และกลุ่มแรงงาน เพราะช่วยเพิ่มพละกำลังในการทำงาน ลดความเหนื่อยล้า แต่เมื่อ 78 ปีก่อน กระท่อมถูกจัดให้เป็นยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 และต่อมากระท่อมก็ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 โดยรวมเข้าไปไว้ในประเภทเดียวกันกับกัญชา
แม้กระท่อมจะถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดที่หากผู้ใดนำมาขาย บริโภคหรือครอบครอง จะมีความผิดทางอาญา แต่ในความเป็นจริง กระท่อมอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวใต้มายาวนาน ประชาชนในภาคใต้คุ้นชินกับการใช้กระท่อม และยังมีการลักลอบปลูกและแอบใช้ เรียกได้ว่า พ.ร.บ. ที่กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น เป็น “กฎหมายที่ขัดต่อวิถีชีวิต” และกฎหมายดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและชาวบ้านมายาวนาน รวมทั้งมีชาวบ้านที่โดนจับกุมเพราะการปลูก ขาย และเสพกระท่อมเป็นจำนวนมาก

ในทางวิทยาศาสตร์ พืชกระท่อม มีสารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ผลการวิจัยพบว่า กระท่อมมีประโยชน์ไม่ต่างจากกัญชา เพราะมีสารไมตราเจนีน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ลดอาการปวดเมื่อย จึงสามารถนำมาใช้บรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีนได้ และยังสามารถนำมาใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ด้วย นอกจากนี้ กระท่อมสามารถใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน และความดัน รวมทั้งนำมาใช้ลดความอยากอาหารได้ จึงเป็นพืชที่สามารถนำมาต่อยอดทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์และการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายของกระท่อม ประกอบกับนโยบายในการเร่งแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังและขัดกับวิถีชีวิตของประชาชน รัฐบาลจึงได้มีนโยบายปลดล็อกให้พืชกระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ยกเลิกพืชกัญชา กระท่อม ออกจากยาเสพติด ต่อมาเมื่อปี 2563 ก็ได้มีการประกาศให้พื้นที่ 135 แห่ง ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ และมีการปลูกพืชกระท่อมมากอยู่แล้ว สามารถนำร่องปลูกกระท่อมได้ในระหว่างที่รัฐบาลเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ….” แก้ไขให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

จนในที่สุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ร่างกฎหมายได้กล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 โดยสาระสำคัญคือ เพิกถอนพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดความผิดทางอาญาสำหรับการครอบครอง เสพ ค้าขาย จนถึงการนำเข้าและส่งออกพืชกระท่อม โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา
กล่าวคือ มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ประชาชนสามารถปลูกและใช้พืชกระท่อมเป็นการส่วนบุคคลได้โดยไม่ผิดกฎหมายทันที

อย่างไรก็ดี สำหรับการปลูกและการซื้อขายพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมนั้น ต้องมีการขออนุญาตโดยจะต้องมีการออกกฎหมายอีก 1 ฉบับ คือ “ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …” เพื่อกำกับรายละเอียดการใช้ การขาย และการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกระท่อมไปใช้เป็นส่วนผสมในยาเสพติด โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. … และส่งให้สภาฯ พิจารณาแล้ว ต่อมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ และล่าสุด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 คณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. …. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …” ที่ได้รับการเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 อาทิ
- การปลูกพืชกระท่อม นำเข้า และส่งออกเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงการขายในระบบอุตสาหกรรมที่มีเกินปริมาณที่กำหนด จะต้องขอรับอนุญาตก่อน
- กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เพาะปลูก ขาย นำเข้าและส่งออก พืชกระท่อม และกำหนดหน้าที่ผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อควบคุม กำกับการเพาะปลูก การขาย การนำเข้าและการส่งออก
- กำหนดมาตรการควบคุมผู้รับใบอนุญาต กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะถูกสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
- กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคที่มากเกินสมควร
- กำหนดข้อห้ามเพื่อป้องกันใช้ในทางที่ผิด เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม หรืออาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ในสถานศึกษา หอพัก หรือขายด้วยวิธีที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ เช่น เครื่องขาย หรือขายโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามบริโภคน้ำต้มที่ผสมกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุอันตราย ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย หรือรักษา
- แต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุม กำกับการเพาะปลูก นำเข้า ส่งออก เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
- กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเพาะปลูก นำเข้าส่งออก ขายที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าการควบคุมและกำกับการใช้พืชกระท่อมนั้น เพื่อประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและประโยชน์ตามวิถีชุมชน
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังว่า การปลดล็อคพืชกระท่อมครั้งนี้ จะเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ โดยประชาชนจะสามารถปลูกและใช้พืชกระท่อมตามวิถีปกติได้อย่างเสรี ทุกคนสามารถปลูกและซื้อขายในระดับชุมชนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากเป็นการปลูกและการซื้อขายในเชิงอุตสาหกรรมและการส่งออกนั้น จำเป็นจะต้องขออนุญาตก่อน และหากมีการนำไปผสมในยาเสพติดอื่น ๆ เช่น 4 × 100 ก็ยังมีความผิดตามกฎหมาย
ผลด้านสังคมที่สำคัญของของกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้มีการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ เดิม ที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม จำนวน 1,038 ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด สำหรับผู้ถูกจับกุมหรือจำเลยในขั้นตอนการพิจารณาคดีต่าง ๆ จะดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมต่อไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นจำนวนถึง 1,691,287,000 บาท จากคดีข้อหาเกี่ยวกับพืชกระท่อมที่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีอยู่ถึง 22,076 คดี โดยคำนวณจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลคิดเป็นเงินประมาณ 76,612 บาท
ด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า การปลดล็อคพืชกระท่อมพ้นจากยาเสพติดของรัฐบาล จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศไทย เพราะในต่างประเทศมีการนำไปแปรรูปเป็นเวชภัณฑ์ เช่น ยาผ่าตัด ยารักษาบำบัดกลุ่มติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก พืชกระท่อมจะสร้างรายได้ประมาณ 6,000 – 7,000 บาท / ต้น / เดือน อีกทั้งเป็นพืชที่มีอายุยืนเป็นร้อยปี ลำต้นสามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย จึงขอชื่นชมรัฐบาลที่ได้ดำเนินการปลดล็อคให้พืชกระท่อมถูกกฎหมายได้สำเร็จ

ดังนั้น การปลดล็อคพืชกระท่อม นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการสร้างอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน รักษาวิถีชีวิตท้องถิ่น และนำไปสู่การต่อยอดด้านการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์ ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ของนโยบายเศรฐกิจ BCG Model แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาด้านการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเคยถูกจับกุมดำเนินคดีจากกฎหมายฉบับเดิมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณทั้งของรัฐและประชาชนในขั้นตอนการดำเนินคดีอีกด้วย
ใส่ความเห็น