ใจความสำคัญ
- เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ทบทวนรายละเอียดโครงการสินเชื่อ 3 โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขยายเวลาการขอรับสินเชื่อออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 และปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
- ขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. จาก 31 มิถุนายน เป็น 30 ธันวาคม 2564 (ณ เดือนมิถุนายน ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 3,144 ล้านบาท)
- สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยธนาคารออมสิน ให้ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็น 7 ปี และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นจากเดิมไม่เกิน 1 ปี เป็น 2 ปี (ณ เดือนมิถุนายน ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 3,861 ล้านบาท)
- สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยธนาคารออมสิน ให้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ตามที่ธนาคารเห็นสมควร ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณารายได้รวมของงบการเงิน และเกณฑ์การพิจารณาสภาพคล่องของที่ดินที่นำมาเป็นหลักประกัน (ณ เดือนมิถุนายน มีวงเงินคงเหลืออีก 7,253 ล้านบาท)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อรายได้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในภาคบริการซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ อาหาร สถานบันเทิง บริการที่พัก สปาและขนส่ง เป็นต้น ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากราว 1.33 ล้านราย และคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 44 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP
ด้วยเหตุนี้ SMEs การท่องเที่ยวจึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการมาเยียวยาและดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ทั้งการพักหนี้ การลดภาษี ไปจนถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ “ซอฟต์โลน” ที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่ SMEs เป็นการเฉพาะ โดยได้มีการจัดทำ พ.ร.ก. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs แล้วถึง 2 ฉบับ คิดเป็นวงเงินรวมกันถึง 850,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เกี่ยวกับการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ SMEs ก่อนหน้านี้ จำนวน 3 โครงการ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
โดย ครม. ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการขอรับสินเชื่อของทั้ง 3 โครงการ เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเพื่อให้ SMEs โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่า สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าว
โครงการที่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม. ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
-
โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash” ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท
เงื่อนไข: วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน
กลุ่มเป้าหมาย: SMEs ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งรถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่าบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากโรคโควิด-19
สถานะการดำเนินการ: เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการไปแล้ว จำนวน 4,012 ราย วงเงิน 6,856 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,144 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564)
หลักเกณฑ์ที่ ครม. ปรับแก้: ขยายระยะเวลาการเปิดรับคำขอสินเชื่อจากเดิมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและยื่นขอรับสินเชื่อได้ทางเว็บไซต์
https://www.smebank.co.th/loans/Extra_cash -
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ของธนาคารออมสิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท
เงื่อนไข: วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 1 ปี
กลุ่มเป้าหมาย: SMEs ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
สถานะการดำเนินการ: เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 2,691 ราย รวมเป็นเงิน 1,139 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,861 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564)
หลักเกณฑ์ที่ ครม. ปรับแก้:• ให้ขยายระยะเวลาการรับคำขอสินเชื่อจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564• ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี• ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปีที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและยื่นขอรับสินเชื่อได้ทางเว็บไซต์
https://www.gsb.or.th/gsb_smes/prsmestrv/ -
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว” ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท
เงื่อนไข: ให้ผู้กู้สามารถใช้ที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกัน รวมถึงสามารถไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ แต่สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปีในปีแรก ร้อยละ 0.99 ต่อปีในปีที่ 2 และร้อยละ 5.99 ต่อปีในปีที่ 3
กลุ่มเป้าหมาย: ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
สถานะการดำเนินการ: เริ่มดำเนินโครงการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 389 ราย จำนวนเงิน 2,747 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 7,253 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564)
หลักเกณฑ์ที่ ครม. ปรับแก้:• ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564• ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม การเดินทางและขนส่ง ค้าส่ง ค้าปลีก บันเทิง สปาและนวดแผนไทย โรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร• วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs• ปรับปรุงรายละเอียดการพิจารณาหลักประกันการกู้เงิน จากเดิมที่ไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน ฯลฯ โดยเปลี่ยนเป็น “ไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออมสินกำหนด” วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณาสภาพคล่องของที่ดินที่นำมาใช้หลักประกัน ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มากยิ่งขึ้นผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและยื่นขอรับสินเชื่อได้ทางเว็บไซต์
https://www.gsb.or.th/news/gsbpr24/
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากรไทยหลายล้านคน โดยรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเหล่านี้ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การปรับโครงสร้างและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบปกติใหม่ การสูบฉีดเม็ดเงินเพื่อเยียวยาประชาชนผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่าง ๆ และการบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนรายย่อย เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ของ สบนร. เกี่ยวกับนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ที่ท่านอาจสนใจ เช่น
เพิ่มแต้มต่อให้ SME เพื่อโอกาสในการประมูลงานภาครัฐ
พรก. ซอฟต์โลนใหม่ 3.5 แสนล้าน ช่วย SME อย่างครอบคลุม
พ.ร.ก. การเงิน 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้าน คืออะไรและช่วยใครบ้าง?
รัฐบาลประกาศให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SME วงเงินกว่าสี่แสนล้าน (พร้อมคลิปวีดิโอ)
นอกจากนี้ ท่านสามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th
ใส่ความเห็น